Friday 29 July 2011

พระอนุพุทธ พระอัญญาโกณฑัญญะ ตอนที่ ๒



สวัสดีครับ บล็อกพระอนุพุทธวันนี้ ก็จะพูดถึงเรื่องของพระอัญญาโกณฑัญญะต่อจากตอนก่อนครับ

หลังจากท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ และปัญญจวคีย์ได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์แล้ว พระบรมศาสดาได้ให้ท่านทั้งหลายออกไปแผยแผ่คำสั่งสอนของพระองค์ ให้ประชาชนทั้งหลาย จนทำให้มีผู้เกิดศรัทธา เข้ามาบวชเป็นภิกษุมากมาย

และในเวลาต่อมา สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จถึงพระเชตวันมหาวิหาร สถิตอยู่ ณ ที่นั้น ประทับบนพระพุทธอาสน์อย่างดีที่เขาจัดไว้แล้ว ทรงแสดงธรรมท่ามกลางภิกษุสงฆ์เพื่อทรงแสดงว่า โกณฑัญญะ บุตรเราเป็นยอดระหว่างเหล่าภิกษุผู้แทงตลอดธรรมก่อนใคร จึงทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะในทาง "รัตตัญญู" แปลว่า"ผู้รู้ราตรี" หมายความว่า ผู้รู้กาลนาน, ผู้มีอายุมาก จำกิจการต่างๆ ได้มาก

เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เนื่องในอดีตกาลล่วงมาแล้วถึง๑๐๐,๐๐๐กัปป์  สมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระนามว่า ปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นในโลก มีภิกษุแสนรูปเป็นบริวาร เสด็จเที่ยวภิกษาในเมืองน้อยใหญ่ต่าง ๆ เพื่อสงเคราะห์มหาชน ครั้นเมื่อเสด็จถึงกรุง หังสวดี มหาราชาผู้เป็นพระพุทธบิดาทรงทราบข่าวว่า พระศาสดานั้นเสด็จมา จึงได้เสด็จออกไปต้อนรับ

พระศาสดาได้ตรัสธรรมกถาแด่พระพุทธบิดา จบเทศนา บางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามี บางพวกเป็นพระอนาคามี บางพวกบรรลุพระอรหัต พระราชาทรงนิมนต์พระทศพล เพื่อเสวยภัตตาหารและถวายมหาทานในพระราชนิเวศน์ของพระองค์แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีภิกษุแสนรูปเป็นบริวารในวันรุ่งขึ้น  พระศาสดาทรงกระทำภัตตานุโมทนาแล้วเสด็จไปพระวิหารตามเดิม โดยการถวายทานนั้น ได้ถวายทานตลอดกาลยืดยาวนาน สลับกันไปกับชาวเมือง เมื่อวันรุ่งขึ้นมหาราชาถวาย วันต่อมา ก็เป็นบรรดาชาวเมืองถวาย

ในครั้งนั้น พระเถระอัญญาโกณฑัญญะนี้ บังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล กรุงหังสวดี วันหนึ่ง ในเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม  ท่านเห็นชาวกรุงหังสวดีต่างถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นเพื่อนำไปบูชาคารวะแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ท่านจึงได้ตามไปยังที่แสดงธรรม พร้อมกับมหาชนนั้น สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า พระปทุมุตตระ ทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งผู้แทงตลอดธรรมก่อนในพระศาสนาของพระองค์ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ พระเถระในสมัยที่เป็นกุลบุตรนั้นได้สดับเหตุนั้นแล้วคิดว่า  ภิกษุนี้ช่างเป็นผู้ยิ่งใหญ่จริง ได้ยินว่า เว้นพระพุทธเจ้า ผู้อื่นชื่อว่าผู้รู้แจ้งแทงตลอดธรรมก่อนภิกษุนี้ ย่อมไม่มี แม้ตัวเราเองก็อยากเป็นผู้สามารถรู้แจ้งแทงตลอดธรรมก่อนผู้ใด ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต

ครั้นเมื่อจบพระธรรมเทศนา จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า นิมนต์ว่า พรุ่งนี้ขอพระองค์โปรดทรงรับภิกษาของข้าพระองค์ พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว กุลบุตรนั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกระทำประทักษิณ แล้วก็จากไปยังที่อยู่ของตน จากนั้นได้ตกแต่งประดับที่ประทับนั่งสำหรับพระพุทธเจ้า ด้วยของหอมและพวงมาลัยเป็นต้น ให้จัดของควรเคี้ยวและควรบริโภคอันประณีต ตลอดคืนยังรุ่ง

ในเช้าวันต่อม่ากุลบุตรนั้นได้ถวายข้าวสาลีหอมมีแกงและกับข้าวต่างๆ รส มีข้าวยาคูและของเคี้ยวอันวิจิตรเป็นบริวาร แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร ในที่อยู่ของตน ในเวลาเสร็จภัตกิจ ได้วางผ้าคู่พอทำจีวรได้สามผืน ใกล้พระบาทของพระตถาคต คิดว่า

เราไม่ได้ขอเพื่อประโยชน์แก่ตำแหน่งเล็กน้อย เราปรารถนาตำแหน่งใหญ่จึงขอ แต่เราไม่อาจให้ทานเพียงวันเดียวเท่านั้นแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น  เราจักถวายทานตลอด ๗ วัน ติดต่อกันไป แล้วจึงจักปรารถนา

เมื่อคิดได้เช่นนี้ เขาจึงถวายมหาทาน ๗ วัน ในเวลาเสร็จภัตกิจ ได้ให้เปิดคลังผ้าวางผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีเยี่ยม ไว้ใกล้พระบาทแห่งพระพุทธเจ้า ให้ภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปครองไตรจีวรแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าย ๗ วันแต่วันนี้ ขอข้าพระองค์พึงเป็นผู้สามารถบวชในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้จะอุบัติในอนาคต แล้วรู้แจ้งได้ก่อนเหมือนภิกษุนี้ แล้วหมอบศีรษะลงใกล้พระบาทของพระศาสดา

พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงส่งอนาคตังสญาณไปตรวจดูว่า กุลบุตรนี้ได้กระทำบุญญาธิการไว้มาก ความปรารถนาของเธอจักสำเร็จไหมหนอ

จริงอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงรำพึงถึงอดีต อนาคตหรือปัจจุบัน ย่อมไม่มีอะไรขัดขวางเลย. เหตุที่เป็นอดีตหรือเหตุที่เป็นอนาคต ที่เป็นไปในภายในระหว่างแสนโกฏิกัปเป็นอันมากก็ดี ปัจจุบันระหว่างแสนจักรวาลก็ดี ย่อมเนื่องด้วยการนึก เนื่องด้วยมนสิการทั้งนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ได้ทรงเห็นเหตุนี้ ด้วยญาณที่ไม่มีใครๆ ให้เป็นไปได้ว่า ในอนาคต ในที่สุดแสนกัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคตมะ  จักอุบัติขึ้นในโลก ครั้งนั้น ความปรารถนาของกุลบุตรนี้จักสำเร็จ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับกุลบุตรนั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนกุลบุตรผู้เจริญ ในอนาคต ในที่สุดแสนกัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคตมะ จักอุบัติขึ้นในโลก ท่านจักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล อันถึงพร้อมด้วยนัยพันนัย พร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ เวลาจบ พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร อันมีวนรอบ ๓ ด้วยการแสดงธรรมครั้งแรกของพระโคดมพุทธเจ้านั้น

พระศาสดาครั้นทรงพยากรณ์กุลบุตรนั้นดังนี้แล้ว ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อแสดงธรรมจบแล้วก็เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ, สรีระของพระองค์ผู้ปรินิพพานแล้ว ได้เป็นแท่งอันเดียวกัน เหมือนก้อนทองฉะนั้น

ชนทั้งหลายได้สร้างเจดีย์บรรจุพระสรีระของพระองค์สูง ๗ โยชน์ อิฐทั้งหลายล้วนแล้วด้วยทองคำ ชนทั้งหลายใช้หรดาลและมโนสิลาแทนดินเหนียว ใช้น้ำมันงาแทนน้ำ ในเวลาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังทรงพระชนม์อยู่รัศมีแห่งพระสรีระแผ่ไป ๑๒ โยชน์ ก็เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพานแล้ว รัศมีนั้นสร้านออกปกคลุมที่ร้อยโยชน์โดยรอบเลยทีเดียว
ส่วนกุลบุตรนั้นให้สร้างของที่มีค่าเท่ารัตนะพันดวงล้อมเจดีย์บรรจุพระสรีระของพระพุทธเจ้า  กุลบุตรนั้นกระทำกัลยาณกรรม ล้วนแล้วด้วยทานใหญ่โตถึงแสนปี เมื่อตายจากอัตภาพนั้นแล้ว ก็บังเกิดในสวรรค์

Thursday 5 May 2011

ประวัติของพระอัญญาโกญฑัญญะ ตอนที่ ๑


 
เหตุที่ข้าพเจ้าจะเขียนถึงประวัติของพระอัญญาโกญฑัญญะนั้น เพราะ ท่านเป็นพระอนุพุทธ พระสงฆ์องค์แรกของโลก เป็นผู้รู้ผู้ตื่น ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์แรก เป็นผู้ที่ทำให้พระรัตนตรัย ครบองค์ ๓  ซึ่ง เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์คิดว่ายากนั้น ก็ยังมีผู้ที่สามารถรู้ตามพระองค์ได้ เรามาทราบถึงประวัติของพระอัญญาโกญฑัญญะกันได้เลยครับ       
พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ เดิมชื่อ โกณฑัญญะ เกิดในตระกูลพราหมณ์แห่งบ้านโทณวัตถุ กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ ๘ คน ที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงคัดเลือกให้ทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะหลัง ประสูติได้ ๕ วัน โดยโกณฑัญญะยืนยันว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะเสด็จออกผนวชและจะได้เป็นพระศาสดาเอก ของโลก  
          เมื่อโกญฑัญ ญะพราหมณ์ได้ทราบข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะได้ออกบวช โกณฑัญญะจึงชวนบุตรพราหมณ์ ๔ คนคือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะและอัสสชิ ออกบวชตามไปคอยปรนนิบัติพระองค์อยู่ขณะพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ((ปัจจุบันสถานที่นี้เรียกว่า ดงคศิริ) ด้วยหวังว่าหลังจากพระองค์ตรัสรู้แล้ว จักได้รับคำสั่งสอนจากพระองค์ แต่เมื่อเห็นว่าพระองค์ทรงเลิกทำทุกรกิริยาคือการอดอาหาร หันมาเสวยพระกระยาหารตามเดิม โกณฑัญญะและสหายทั้งสี่เข้าใจว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรเวียนกลับมาเป็นคน มักมากเสียแล้ว ไม่มีโอกาสตรัสรู้ตามที่ตั้งใจแน่ จึงพากันละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวง เมืองพาราณสี  เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้เสวยวิมุติสุข แล้ว ก็ทรงตรวจดูว่า จะมีผู้ใดที่จะตรัสรู้ธรรมตามที่พระองค์ได้รู้ ก็ทรงทราบว่าอาจารย์ของพระองค์คือ อาฬารดาบสและอุททกดาบสทำกาละแล้ว เมื่อทรงดำริต่อไป ก็เกิดพระดำริขึ้นว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้บำรุงเราตอนเราตั้งความเพียร นับว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา ถ้ากระไร เราจะพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน
          จากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จไปแสดงธรรมให้แก่ปัญจวคีย์  ณที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ครั้นเมื่อเสด็จไปถึง ปัญจวคีย์ ได้ตั้งกติกากันก่อนว่า ถ้าพระพุทธเจ้าเสด็จมา เราจะเฉยเสีย แต่เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา ต่างก็ลืมกติกานั้นเสีย  พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงธรรม ซึ่งเป็น ปฐมเทศนา ที่มีชื่อว่า  ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร”  เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมนี้จบลง ท่านโกญฑัญญะ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดาพระผู้มีพระภาค ทรงได้เปล่งอุทานว่า  อญฺญาสิ วต โภ โกญฺทญฺโญ”  แปลว่า  โกญฑัญญะ รู้แล้วหนอ   คำว่าอัญญาโกฑัญญะ จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะ ดังนั้น พระเถระจึงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ในวันอาสาฬหปุรณมี เพ็ญกลางเดือน ๘
         
               เมื่อท่านอัญญาโกญฑัญญะได้ธรรมจักษุแล้ว จึงทูลขอบวช พระพุทธองค์ทรงประทานให้โดยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยพระดำรัสว่า  ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด   หลัง จากนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายที่เหลือ อันได้แก่ท่านพระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะและท่านพระอัสสชิ  ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา และท่านทั้งหลายเหล่านั้น ก็ได้ทูลขออุปสมบทตามลำดับไป และในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค จึงได้แสดงธรรมเทศนาอันมีชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร แก่พระภิกษุปัญจวคีย์ โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า
ภิกษุ ทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ(ขันธ์ ๕) เป็นอนัตตา ถ้า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูป เวทนา....ว่า รูป เวทนา...ของเราจงเป็นอย่างนี้ รูป เวทนา...ของเราอย่าได้เป็นไปอย่างนั้น”  ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูป เวทนา...เป็นอนัตตา ฉะนั้น รูป เวทนา...จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูป เวทนา...ว่า รูป เวทนา...ของเราจงเป็นอย่างนี้ รูป เวทนา...ของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น
พระผู้มีพระภาค ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ เข้าใจข้อนั้นอย่างไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ภิกษุปัญจวคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”   เป็นทุกข์พระเจ้าข้า”   “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”  ข้อนั้นไม่ควรเลยพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ภิกษุ ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
ภิกษุ ทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ  เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว อริยสาวกย่อมรู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว  กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี “ 
เมื่อพระพุทธองค์ ตรัสพระสูตรนี้จบ จิตของภิกษุปัญจวคีย์ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย บรรลุอรหัตตผลในเวลาต่อมา          
              ในตอนหน้า เรามาดูถึงเหตุที่พระเถระได้รับการแต่งตั้งเป็นพระเถระผู้มีเอตะทัคคะด้าน "รัตตัญญู"กันครับ

ความรู้เรื่องประวัติพระอนุพุทธะ


นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ใกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองฯ
สวัสดีครับ บล็อคประวัติพระอนุพุทธะนี้ เป็นบล็อคที่จะรวบรวมเอาประวัติพระอัครสาวก พระสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีในตำราต่าง ๆ มาไว้เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาและเรียนรู้  ทั้งนี้ประวัติของพระสาวกนั้น ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก อรรถกถา ตำรับตำราต่าง ๆ ซึ๋งกระจัดกระจาย ผมจึงมีความคิดอยากจะรวบรวมไว้เป็นที่ ๆ เดียว โดยจะค่อย ๆ เรียบเรียงประวัติพระสาวกไปตามลำดับเหตุการณ์ที่ปรากฏในประไตรปิฎก
หวังว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าทำนี้จะเป็นประโยชน์ไม่บ้างก็น้อย ขอบคุณครับ